พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม
ประวัติการสร้างพระสมเด็จ วัดระฆัง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
การสร้างพระเครื่องไว้ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนานั้น ได้มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวปีพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ต่อมาท่านโบราณจารย์ผู้เชี่ยวชาญฉลาดได้ประดิษฐ์คิดสร้างพระเครื่อง ด้วยรูปแบบต่างๆนานาตามแต่จะเห็นว่างาม นอกจากนั้นแล้งยังได้บรรจุพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ตลอดจนพระปริตรและหัวใจพระพุทธมนต์อีกมากมายหลายแบบด้วยกัน และการสร้างพระเครื่องนั้น นิยมสร้างให้มีจำนวนครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์อีกด้วย
ดังนั้น ในชมพูทวีปและแม้แต่ประเทศไทยเราเอง ปรากฏว่ามีพระเครื่องอย่างมากมาย เพราะท่านพุทธศาสนิกชนได้สร้างสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย และในบรรดาพระเครื่องจำนวน มากด้วยกันแล้ว ท่านยกย่องให้พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ซึ่งสร้างโดยท่านเจ้าประคุณพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) เป็นยอดแห่งพระเครื่อง และได้รับถวายสมญานามว่าเป็น ราชาแห่งพระเครื่อง อีกด้วย
ปฐมเหตุซึ่งพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้รับการยกย่องเช่นนั้น อาจจะเป็นด้วยรูปแบบของ พระสมเด็จ เป็นพระเครื่ององค์แรกซึ่งสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างทรงเลขาคณิต ส่วนองค์พระและฐานนั้นเล่า ท่านได้จำลองแบบ และย่อมาจากองค์พระประธาน จากพระอุโบสถเพียงองค์เดียวเท่านั้น ปราศจากอัครสาวกซ้ายขวา องค์พระจึงดูโดดเด่นอย่างเป็นเอกรงค์ สำหรับซุ้มเรือนแก้วอันเป็นปริมณฑลนั้นเล่า ท่านได้จำลองแบบอย่างมาจากครอบแก้ว (ครอบแก้วพระพุทธรูป) และถึงจะเป็นรูปแบบอย่างง่ายๆ ปราศจากส่วนตกแต่งแต่อย่างใดเลย ก็ตามทีต้องยอมรับว่าเป็นความงามที่ลงตัวอย่างหาที่ติมิได้เลย
นอกจากรูปแบบอันงดงามของพระสมเด็จดังกล่าวแล้ว ศรัทธาและความเลื่อมใสของนักสะสมพระเครื่อง อันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คงจะมาจากคุณวิเศษอันเป็นมหัศจรรย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) ผู้ประติมากรรมพระสมเด็จเป็นอันดับสอง
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )วัดระฆังโฆสิตาราม ผู้เป็นอมตเถระ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) วัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย ธนบุรี นามเดิมว่า โต ได้รับฉายา พฺรหฺมรํสี ถือกำเนิดตอนเช้าตรู่ ของวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ จุลศักราช ๑๑๕๐ ในรัชกาลที่ ๑ บ้านไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อ เกศ เป็นชาวบ้าน ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
นอกจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้สร้างปูชนียวัตถุแล้ว มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย และเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่มีพระเครื่องซึ่งงดงามไปด้วยพุทธศิลปะ อันบริสุทธิ์ของชาวไทยเราอีกด้วย และโดยเฉพาะที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีความรู้และแตกฉานทางอักษรโบราณ ท่านจึงสามารถอ่านศิลาจารึกที่ว่าด้วยกรรมวิธีการสร้างพระเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อผงขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ โดยมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอาถรรพณ์อื่นๆ และมีผงวิเศษซึ่งสำเร็จจากการลบสูตรสนธิ์จากคัมภีร์ทางพุทธาคม เมื่อนำเอามาบดตำกรองจนดีแล้ว จึงนำเอาวัตถุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆเหล่านั้นมาผสมผสานกับดินสอพอง (ดินขาว) แล้วปั้นเป็นแท่งตากให้แห้งแล้วจึงนำเอามาเขียนอักขระเลขยันต์ตามคัมภีร์ บังคับบนกระดานโหราศาสตร์ซึ่งทำจากต้นมะละกอ เสร็จแล้วจึงลบเอาผงมาสร้างเป็นพระสมเด็จ ที่เรียกว่าผงวิเศษ หรือผงพุทธคุณนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้วยังสันนิษฐานกันว่า ท่านยังเอาข้าวก้นบาตร และอาหารหวานคาวที่ท่านฉันอยู่ถ้าคำไหนอร่อยท่านจะไม่ฉัน จะคายออกมาแล้วตากให้แห้งเพื่อนำไปบดตำสร้างพระสมเด็จของท่าน ซึ่งถูกต้องตามวิธีการสร้างพระอาหารของชาวรามัญ
ส่วนตัวประสาน หรือตัวยึดเกาะนั้น ที่เราทราบๆ กันอย่างเด่นชัดก็คือ น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เยื่อกระดาษ ได้จากการที่เอากระดาษฟางหรือกระดาษสามาแช่น้ำข้ามวันข้ามคืน จนกระดาษละลายเป็นเมือกดีแล้ว จึงนำเอามากรองเพื่อเอาเยื่อกระดาษมาผสมผสานบดตำลงไป เชื่อกันว่าตัวเยื่อกระดาษนี้ เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้พระสมเด็จวัดระฆัง มี ความหนึกนุ่ม เนื้อจึงไม่แห้งและกระด้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนผสมที่เป็นประเภทพืช เช่น ข้าว อาหาร กล้วย อ้อย เป็นต้น ก็มีส่วนที่ทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่มอีกเช่นกัน
สำหรับในด้านแม่พิมพ์พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตารามนั้น ถ้าได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วจักเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย คือเค้าโครงภายนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงเลขาคณิต เป็นการออกแบบที่ทวนกระแสความคิดสร้างสรรค์ ของคนโบราณอย่างสิ้นเชิง อาจจะพูดได้ว่า เป็นการออกแบบที่เป็นศิลปะของตนเอง อย่างบริสุทธิ์ หาได้อยู่ภายใต้ของศิลปะพระเครื่องสกุลอื่นใดไม่ ทั้งๆที่การสร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องได้มีมาแต่ครั้งสมัยคันธารราษฎร์ (อินเดีย) มากกว่า ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
ในด้านองค์พระคงจะได้แนวคิดและแบบอย่างมาจากพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งส่วนมากจักประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เฉพาะซุ้มเรือนแก้วนั้นคงจักได้แนวคิดมาจากครอบแก้ว ซึ่งเพิ่งจะมีครอบแก้วครอบพระบูชาประจำวัด ประจำบ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ผิวทองหมองประการหนึ่ง และเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละอองที่มีคละคลุ้งในอากาศอีกด้วย เป็นที่เชื่อกันว่า ผู้ที่แกะแม่พิมพ์ถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้น น่าจะเป็นฝีมือช่างสิบหมู่หรือฝีมือช่างหลวงนั่นเอง
พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตารามในท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯนั้น เป็นเป็นพระที่สร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่โอกาสและเวลาจะอำนวย หาได้สร้างเป็นครั้งเดียวไม่ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะพระแต่ละพิมพ์ของท่าน เนื้อหา ตลอดจนมวลสารนั้นมีอ่อนแก่กว่ากัน ละเอียดบ้าง หยาบบ้าง สีสันวรรณะก็เป็น เช่น เดียวกันทั้งสิ้น เมื่อท่านสร้างพระแต่ละพิมพ์แต่ละคราวเสร็จแล้ว ท่านจะบรรจุลงในบาตร นอกจากท่านจะบริกรรมปลุกเสกด้วยตัวท่านจงดีแล้ว ยังนิมนต์ให้พระเณรปลุกเสกอีกด้วย เมื่อท่านออกไปบิณฑบาตท่านก็จะเอาติดตัวไป ญาติโยมที่ใส่บาตรท่าน ท่านจะแจกพระให้คนละองค์ และมักจะพูดว่า เก็บเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ต่อไปจะหายาก โดยไม่บรรยายสรรพคุณให้ทราบแต่อย่างใด แต่ก็เป็นที่ทราบกันอยู่ในยุคสมัยนั้นแล้วว่า พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โด่งดังทางโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม