22 ธันวาคม 2553

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ต่างๆ

พระสมเด็จวัดระฆัง ถูกจำแนกออกไปเป็น ๕ พิมพ์ใหญ่ด้วยกันคือ

๑ พิมพ์พระประธาน หรือ พิมพ์ใหญ่
๒ พิมพ์ทรงเจดีย์
๓ พิมพ์เกศบัวตูม
๔ พิมพ์ฐานแซม
๕ พิมพ์ปรกโพธิ์ สำหรับพระพิมพ์นี้มีให้พบน้อยมาก ภายหลังจึง ไม่ค่อยจะมีผู้กล่าวถึง

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่


พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน หรือที่นิยมเรียกว่า พระพิมพ์ใหญ่ เป็นพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาพระสมเด็จวัดระฆังทั้ง ๔ พิมพ์ ด้วยความงดงามสง่าผ่าเผย ขององค์พระ และความสมบรูณ์สมส่วนขององศ์ประกอบโดยรวมขององค์ประกอบศิลป์ทั้งหมด ประกอบกับจำนวนพระที่มีปริมาณเหมาะสม จึงส่งผลให้พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธานนี้ นับเป็นสุดยอดของพระในตะกูลสมเด็จทั้งหมด

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน มีทั้งเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ เนื้อแก่น้ำมันตังอิ๊ว หรือเนื้อสังขยา และเนื้อแก่ปูนในพระพิมพ์นี้ สามารถแยกแยะออกเป็น ๓ โครงสร้างใหญ่ด้วยกันโดยถือเอารูปร่างขององค์พระเป็นตัวกำหนด

พระพิมพ์ ๑ จะมีลักษณะที่ลำพระองค์หนา พระพักตร์ค่อนข้างกลมใหญ่ หรือเรียกว่า ( เอวหนา หน้าใหญ่ )
พระพิมพ์ ๒ จะมีลักษณะที่ลำพระองค์หนา ส่วนพระพักตร์นั้น จะเรียวอูมตรงกลางและรูปพระพักตร์นั้นยาวกว่าพิมพ์แรก หรือที่เรียกว่ารูปพระพักตร์แบบ “ ผลมะตูมใหญ่ ” ( เอวหนา หน้ากลาง )
พระพิมพ์ ๓ จะมีลักษณะที่ลำพระองค์บาง คอดหายไปตรงส่วนปลายรูปพระพักตร์จะเรียวอูมรีเล็กกว่าทุกพิมพ์ที่เรียกว่า “ ผลมะตูมเล็ก ” ( เอวบาง หน้าเล็ก )

เนื่องจากแม่พิมพ์ของพระเป็นการสร้างด้วยมือ และมีหลายอัน จึงทำให้เกิดรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ยังคงเค้าโครงหลักดังกล่าวมาแล้ว ถึงกันนั้นความแตกต่างในส่วนของเค้าโครงก็มิได้มีผลต่อความแตกต่างเรื่องค่า นิยม สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างในค่านิยมคือ ความสมบรูณงดงามขององค์พระ นับเป็นปัจจัยหลัก

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เจดีย์


พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ นี้นับได้ว่าเป็นพระที่มีลักษณะโดยรวมของลำพระองค์ ( ลำตัว ) ขององค์พระที่หนากว่าทุกพิมพ์ และรูปทรงทั้งหมดจากพระเกศถึงฐานชั้นล่างสุด จะมีลักษณะคล้ายเจดีย์ พระพิมพ์นี้สามารถแบ่งตามโครงสร้างได้เป็น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คือ

พระพิมพ์ทรงเจดีย์ใหญ่ จะพบว่าส่วนของพระพักตร์ จะมีลักษณะอูมเกือบกลม ด้านข้างของพระพักตร์ จะมีเส้นพระกรรณ ( หู ) ติดอยู่ไรๆ ไม่ชัดเจนเท่าพิมพ์เกศบัวตูม สำหรับพระที่ยังคงความสมบรูณ์ และการกดในช่วงแรกของการทำ ก่อนที่แม่พิมพ์จะเริ่มลบเลือน ส่วนลำพระองค์ ( ลำตัว ) จะล่ำ เอวหนา และวงพระกร ( วงแขน ) จะสอบเข้าหาลำตัว ( วงพระกรแคบ )
พระพิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก พระพิมพ์นี้จะมีลักษณะโดยรวมผอมบางกว่าพิมพ์แรก พระพักตร์ ( หน้า ) จะเรียวกว่า ปลายพระเกศจะสั้น หลายองค์ที่พบเห็นพระเกศจะไม่จรดซุ้มด้านบน ลำพระองค์จะหนาเป็นรูปกระบอก ( แต่เว้าเอวเล็กน้อย ) ลำพระกร ( ลำแขน ) ช่วงบนจะหนาอูมแบบแขนนักกล้าม และวาดลำพระกรแคบ ( วงแขนแคบ ) มากกว่าสมเด็จทุกพิมพ์ ในพระที่มีความสมบรูณ์ จะปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน

พระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ใหญ่ จะมีค่านิยมสูงกว่าพิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก หากมีความสมบรูณ์ เท่ากัน แต่พิมพ์ทรงเจดีย์เล็กอาจจะมีค่าความนิยมสูง หากความสมบรูณ์ชัดเจนมากกว่าพิมพ์เจดีย์ใหญ่

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม


พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองมาจากพิมพ์พระประธาน ความนิยมนับว่าใกล้เคียงพิมพ์เจดีย์ แต่ความล่ำสันขององค์พระ และปริมาณที่พบน้อยกว่าพิมพ์ทรงเจดีย์ จึงทำให้ลำดับความนิยมสูงกว่าทรงพิมพ์เจดีย์เล็กน้อย

สาเหตุที่เรียกพระพิมพ์นี้ว่า “ เกศบัวตูม ” นั้นเนื่องมาจากรูปพระพักตร์ของพระพิมพ์นี้ จะมีความกว้างของหน้าผาก แล้วเรียวลงมาสู่ลูกคางเล็กน้อย และจะมีความมุ่นเมาลีเหนือพระเคียร เป็นกระเปาะเล็กน้อย ก่อนที่จะถึงส่วนปลายของพระเกศคล้ายรูปดอกบัวคว่ำ ที่สำคัญจะปรากฏเส้นพระกรรณ ( หู ) ที่ยาวเกือบจรดพระอังสา ( บ่า ) แทบทุกองค์

พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมนี้ แบ่งตามโครงสร้างของโดยรวมของลำพระองค์ได้เป็น ๒ ประเภทคือ

• พิมพ์เกศบัวตูมใหญ่ จะมีลักษณะลำพระองค์หนา บางองค์เกือบเป็นรูปทรงกระบอก พระพักตร์ใหญ่ ค่อนข้างกลม รูปของลำพระกร ( ท่อนแขน ) จะล่ำหนา
• พิมพ์เกศบัวตูมเล็ก มีลักษณะของลำพระองค์ที่เรียบบางกว่าพิมพ์แรก ( เอวคอด ) รูปพระพักตร์เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ( คางมน ) ลำพระกร ( ท่อนแขน ) จะบางเล็ก จะเด่นของพระพิมพ์นี้คือจะปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน พาดผ่านลำพระองค์โดยตลอด นับเป็นพระที่เกิดจากแม่พิมพ์ที่มีความคมลึก และรายละเอียดชัดเจนมาก}}

ค่าความนิยมของพระพิมพ์นี้ขึ้นอยู่กับความสมบรูณ์คมลึกของรายละเอียดที่รวมอยู่ในองค์ พระเป็นหลัก

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม


พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม เป็นพระที่ได้รับความนิยมรองมาจากทุกพิมพ์ที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุที่เรียกพิมพ์นี้ว่า “ พิมพ์ฐานแซม ” เนื่องจากมีเส้นแซมที่ใต้องค์พระกับฐานชั้นบนสุด และระหว่างฐานชั้นบนสุดกับฐานชั้นกลาง

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม สามารถแบ่งตามโครงสร้างของพระองค์ได้ ๓ ประเภทคือ

พิมพ์ที่ ๑ จะมีลักษณะรูปพระพักตร์ ( ใบหน้า ) ที่อูมรีใหญ่ ลำพระองค์จะหนาเกือบเป็นทรงกระบอกจนบางองค์แทบไม่มีเส้นโค้งข้างลำพระองค์ เลย
พิมพ์ที่ ๒ จะมีลักษณะของรูปพระพักตร์ ( ใบหน้า ) เรียวและอูมน้อยกว่าพิมพ์แรก ลำพระองค์ ( ลำตัว ) จะเล็กกว่าพิมพ์แรกมีเส้นเอวให้เห็นชัดเจนขึ้น พระที่กดพิมพ์ชัดเจนจะปรากฏเส้นคอให้เห็นด้วย
พิมพ์ที่ ๓ จะมีลักษณะพระพักตร์ ( ใบหน้า ) ที่เรียวยาวมากกว่าสองพิมพ์แรก เส้นพระกรรณ ( หู ) ข้างพระพักตร์จะติดชัดเจน ลำพระองค์ ( ลำตัว ) บาง เอวคอด ในพระที่มีความคมชัดจะปรากฏเส้นสังฆาฏิพาดลำพระองค์ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับความแตกต่างในด้านค่านิยมทั้ง ๓ พิมพ์ แทบจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ความสวยงาม ความสมบรูณ์ คมชัด เป็นสิ่งที่กำหนดความแตกต่างของค่านิยมพระพิมพ์นี้

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์

• พิมพ์ปรกโพธิ์ สำหรับพระพิมพ์นี้มีให้พบน้อยมาก ภายหลังจึงไม่ค่อยจะมีผู้กล่าวถึง